วันอังคารที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

โครงการพระราชดำรฝนหลวง










ฝนหลวงสู่ปวงประชา จากพระบิดาของแผ่นดิน
เมื่อกล่าวถึงพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในท้องถิ่นทุรกันดาร เต็มไปด้วยความยากลำบาก หลายครั้งที่เสด็จพระราชดำเนินไปในท้องที่ห่างไกล เพื่อทรงรับทราบความยากลำบากและปัญหาของประชาชน พระองค์มิได้ทรงย่อท้อและมิได้ทรงแสดงให้เห็นความยากลำบากให้ประชาชนได้เห็น เมื่อทรงทราบสภาพปัญหาของประชาชนในท้องที่ต่างๆ แล้วจะทรงพระราชทานแนวพระราชดำริแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อสนองรับไปขยายผลต่อ ซึ่งจากแนวพระราชดำรินั้นได้กลายเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนทั่วทุกหนแห่งของประเทศ
พระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในด้านการเกษตรที่สำคัญยิ่งประการหนึ่งคือ พระราชดำริด้านการจัดการน้ำ ด้วยทรงตะหนักถึงความสำคัญของน้ำที่มีผลต่อความอยู่รอดของชีวิต ทั้งพืช สัตว์ หรือแม้แต่มนุษย์เราก็ตาม ดังพระราชดำรัสพระราชทานเมื่อวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2539 ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ความตอนหนึ่งว่า “…หลักสำคัญว่า ต้องมีน้ำ น้ำบริโภคและน้ำใช้ น้ำเพื่อการเพาะปลูก เพราะชีวิตอยู่ที่นั่น ถ้ามีน้ำ คนอยู่ได้ ถ้าไม่มีน้ำ คนอยู่ไม่ได้ ไม่มีไฟฟ้า คนอยู่ได้ แต่ถ้ามีไฟฟ้า ไม่มีน้ำ คนอยู่ไม่ได้...”
ตลอดระยะเวลาอันยาวนาน เกษตรกรไทยพึ่งพาน้ำฝนเพื่อการเกษตรเป็นหลัก แต่เมื่อสภาพอากาศของโลกเปลี่ยนไป น้ำยิ่งมีความสำคัญทวีมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากการเกิดฝนแล้งในฤดูกาลอย่างรุนแรง เกษตรกรและประชาชนในชนบทเดือดร้อนเพราะขาดน้ำสำหรับการอุปโภคบริโภค และส่วนหนึ่งต้องอพยพสู่เมืองใหญ่ กลายเป็นปัญหาด้านอื่นๆ ตามมา
ด้วยสายพระเนตรอันยาวไกลของพระองค์ ครั้งเมื่อเสด็จพระราชดำเนินเพื่อทรงเยี่ยมเยียนทุกข์สุขของพสกนิกรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทรงสังเกตเห็นเช่นเดียวกับปีก่อนๆ ที่เคยเสด็จเป็นประจำว่า มีกลุ่มเมฆปริมาณมากปกคลุมเหนือพื้นที่ระหว่างเส้นทางนั้น แต่ไม่สามารถก่อรวมตัวจนเกิดฝนตกได้ เป็นเหตุให้เกิดสภาวะแห้งแล้งและฝนทิ้งช่วงยาว ทั้งๆ ที่เป็นช่วงฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ซึ่งเป็นฤดูฝน จึงทรงมีพระราชดำริว่าน่าจะมีลู่ทางที่คิดค้นหาเทคนิคด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ที่จะทำให้ฝนตกได้ และต่อมาได้ทรงพระราชทานแนวพระราชดำรินี้แก่ หม่อมราชวงศ์เทพฤทธิ์ เทวกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ทำการค้นคว้า
หลังจากนั้น ในพ.ศ. 2512 จึงจัดตั้งหน่วยงานศึกษาภาคสนามในการเร่งเมฆให้กลายเป็นฝนในพื้นที่ทดลองที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และอำเภอหัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งมีผลแตกต่างที่ฝนไม่ตกตรงเป้าหมาย แต่ก็มิได้ทรงท้อถอย ในพ.ศ. 2514 รัฐบาลได้สนับสนุนให้มีการศึกษาทดลองโครงการทำฝนเทียมเพื่อสนองพระราชดำริ
โดยทำการวิจัยและใช้แหล่งต้นน้ำของอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพลและอ่างเก็บน้ำอุบลรัตน์ จัดโครงการทำการเร่งเมฆหลายครั้งในภาคกลางและภาคใต้ ตลอดจนเร่งเมฆที่ จ.นครสวรรค์ ต่อมานั้น พ.ศ. 2514 จึงมีการตั้งสำนักงานปฏิบัติการฝนหลวง ทำหน้าที่ปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบสภาวะแห้งแล้ง และศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพในการทำฝนหลวง จวบจนพ.ศ. 2535 คณะรัฐมนตรีจึงตั้งสำนักฝนหลวงและการบินเกษตรขึ้น ปัจจุบันการทำฝนหลวงที่นำสารเคมีผสมขึ้นโปรยบนอากาศให้เมฆจับตัวและใช้กระบวนการซูเปอร์แซนด์วิช เพื่อโจมตีกลุ่มเมฆที่อ้วนเต็มที่นั้น ได้ทำให้ฝนสามารถตกตามต้องการ นับเป็นความสำเร็จที่ทำให้ “ฝนหลวงพระราชทาน” นี้สามารถแก้ปัญหาความแห้งแล้งอย่างมีประสิทธิภาพยิ่ง
ในปี พ.ศ. 2542 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงประดิษฐ์ตำราประมวลขั้นตอนกรรมวิธีการทำฝนหลวง โดยใช้คอมพิวเตอร์ด้วยพระองค์เอง ซึ่งรวมกรรมวิธีซูเปอร์แซนด์วิช ที่ทรงคิดค้นขึ้นใหม่ด้วย ในต่อมาเรียกภาพการ์ตูนนี้ว่า “ตำราฝนหลวงพระราชทาน” และได้พระราชทานให้คณะปฏิบัติการฝนหลวงเป็นแนวทางในการปฏิบัติเรื่อยมา
ปัจจุบัน “โครงการฝนหลวง” ได้ช่วยบรรเทาความแห้งแล้งและก่อให้เกิดน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคแก่ประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง จนเป็นที่รู้จักในพระอัจฉริยะภาพอย่างแพร่หลายทั้งในระดับประเทศและระดับโลก
ด้วยพระปรีชาสามารถของพระองค์ท่าน สำนักสิทธิบัตรของประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป หรืออียู ( EU ) ในปี พ.ศ. 2548 และสำนักสิทธิบัตรเขตพิเศษฮ่องกง ปี พ.ศ. 2549 ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายสิทธิบัตรฝนหลวงแด่พระองค์ และทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกของโลก ที่ได้รับสิทธิบัตรจากองค์กรระดับสากล นอกจากนี้ยังทรงได้รับรางวัลสดุดีเฉลิมพระเกียรติด้านการศึกษาวิจัยการทำฝนเทียมและพัฒนาดัดแปรสภาพอากาศ จากรัฐบาลสหรัฐอาหรับอิมิเรตส์ร่วมกับองค์การอุตุยิยมวิทยาโลก ในปี พ.ศ. 2550
เหนือสิ่งอื่นใด เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2545 คณะรัฐมนตรีมีมติให้วันที่ 14 พฤศจิกายนของทุกปี อันเป็นวันแรกที่ทรงมีพระราชดำริการทำฝนเทียมเป็นวันพระบิดาแห่งฝนหลวง เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระองค์ท่าน ที่ทรงได้พระราชทานโครงการฝนหลวงอันยังประโยชน์แก่พสกนิกร แก้ปัญหาภัยแล้งอันเป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิต
พระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นับว่าหาที่สุดมิได้ นับจากที่พระองค์ทรงพระราชดำริการทำฝนจนเป็นที่ประจักษ์ในระดับโลกมาแล้ว ในโอกาสนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ขอน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมรับสนองพระราชดำริปฏิบัติหน้าที่ รับสนองกิจการงานอันก่อเกิดประโยชน์แก่ประชาชนและประเทศชาติให้อยู่ดีมีสุขอย่างยั่งยืนนานสืบไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น